วิษณุ ยืนยัน แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ฯได้ พร้อมอธิบายเหตุผล
เมื่อวาน 2 ก.ค.68 นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ ข่าวข้นคนข่าวเนชั่นทีวี ถึงข้อสงสัย กรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จะสามารถเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ได้หรือไม่ว่า น.ส.แพทองธาร สามารถเข้าเฝ้าได้ เนื่องจากในแง่กฎหมายไม่มีผิด ในเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.วันที่ 30 มิ.ย. มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. โปรดเกล้าฯ วันที่ 30 มิ.ย. และศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวันที่ 1 ก.ค.68
“แปลว่า ทันทีที่โปรดเกล้าฯ ความเป็น รมต.เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จนกว่าถวายสัตย์ฯ เหมือนกับตั้งรัฐบาลสมัยไหนๆ ก็ตาม โปรดเกล้าฯ แล้ว อีกหลายวันกว่าถวายสัตย์ การเข้าถวายสัตย์ไม่ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ ไม่เช่นนั้นครม.ทุกยุคทุกสมัย จะตั้งได้อย่างไร พอตั้งปั๊บ ไม่มีใครถวายสัตย์สักคน แล้วนัดกันเข้าไปถวายสัตย์ ฯ สามารถทำหน้าที่ได้”
วิษณุ ยืนยัน แพทองธาร เข้าถวายสัตย์ฯ ได้พร้อมอธิบายเหตุผล
ตอบสั้นๆ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเดียว คือ หน้าที่ถวายสัตย์ ส่วนหน้าที่อื่นจะทำได้ต่อเมื่อหลังถวายสัตย์แล้ว คือหน้าที่ของรมต.วัฒนธรรม ถามว่า ใครเป็นคนนำถวายสัตย์ ก็คือเอา รมต.อาวุโสที่สุด ซึ่งใครก็ได้ แต่ ก็คือ รมต.สุริยะ ก็คือรองนายกฯ ที่รักษาการอยู่ คนนำเข้าถวายสัตย์แทน เคยมีมาแล้ว ในอดีต สมัย พล.อ.เปรม ซึ่งช่วงเวลาถวายสัตย์ พล.อ.เปรม เดินทางไปต่างประเทศพอดี คือ พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกฯ ขณะนั้น นำ ครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ
ชี้ปม ศาล รธน.ไม่ได้วินิจฉัยเป็น รมต.สิ้นสุดลง
เมื่อถามว่า มีมุมมองนักกฎหมายอีกฝ่ายว่า ศาล รธน.วินิจฉัย นายกฯ แต่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ในตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ได้อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ศาล รธน.ไม่ได้วินิจฉัยความเป็น รมต.สิ้นสุดลง แต่วินิจฉัยให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังเป็นนายกฯอยู่ เหมือนพลเอกประยุทธ์ ที่เป็น รมต.เข้าประชุม ครม. ทุกนัด แต่ประชุมออนไลน์
เมื่อถามว่า มีการตีความว่า ตามคำร้องของ สว.ความหมายนายกฯ และ รมต. คือเป็นความผิดตาม รธน.ในมาตราเดียวกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ถูกไง รมต.คือนายกฯ นายกฯ ก็คือ รมต. ก็ตีไป ผมไม่เถียงอะไรด้วยก็แล้วแต่ แต่ความเข้าใจผมเป็นแบบนี้ ไม่มีปัญหาทางข้อกฎหมาย
เผยแพทองธาร ยืนแถวเข้าเฝ้าอย่างไร
ส่วนการยืนแถวเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ น.ส.แพทองธาร ยืนลำดับอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนตามลำดับที่เขาจัด ปกติจะยืนแถวหน้าแถวหลังไม่แปลก บางครั้งยืนเรียงตามตัวอักษรกระทรวง หรือจะใช้หลักอาวุโสก็ได้ ในทีนี้คือ ลำดับอาวุโสตามอายุ
ยอมรับอำนาจยุบสภามีสองความเห็น
นายวิษณุ ยังได้อธิบายถึงข้อถกเถียง รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ ยอมรับว่ามีข้อถกเถียงกันมานานแล้ว ยอมรับมีสองความเห็น ความเห็นแรก เมื่อเป็นรักษาการนายกฯ สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนนายกฯ อีกความเห็นบอกว่า ไม่ได้ เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกฯ
“ผมเห็นไปในทางที่ว่าสามารถยุบสภาได้ อยู่ที่ว่าพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะลงพระปรมาภิไธยได้หรือไม่ เมื่อท่านลงพระปรมาภิไธยให้หรือไม่ ถ้าถวายขึ้นไป ท่านลงพระปรมาภิไธยมา แล้วใครจะมาเถียงกันว่า ใครทำผิดรัฐธรรมนูญ”
จับตา หลังถวายสัตย์ แก้ไขคำสั่งให้อำนาจรักษาการนายกฯ
ส่วนข้อกฎหมายมีระบุ ใน รธน.หรือไม่ กรณี อำนาจรักษาการ ยุบสภาได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี พูดแต่เพียงว่า รักษาการปฏิบีติหน้าที่ได้ทุกอย่าง ส่วนคำสั่งมอบหมายงาน มีการเขียนยกเว้น บางอย่าง ก็มียกเว้น แต่ในการประชุม ครม. วันที่ 3 ก.ค. ก็จะเขียนใหม่ จัดลำดับอาวุโสรองนายกฯ ใหม่ ก็ต้องดูไม่รู้เขาจะจัดลำดับอาวุโสใครที่สุด
“สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอหยุดพัก สลค. ก็มีคำสั่งที่ตั้ง พล.อ.ประวิตร ซึ่งตอนแรกมีข้อจำกัดบางอย่าง มายกเลิกข้อจำกัดนั้นเสีย เลขา ครม.เสนอคำสั่งใหม่ ให้ผู้รักษาการแทนนายกฯ มีอำนาจทุกอย่าง “
สำหรับกำหนดการ ครม.แพทองธาร 1/1 ในการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ก่อนปฏิบัตหน้าที่มีดังนี้ เวลา 08.00 น. รมต.ทยอยมาถ่ายรูปติดบัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น เวลา 09.45 น. รถบัสนำ ครม.ออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยกำหนดการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ในเวลาประมาณ 11.00 น. ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการ ครม.เดินทางกลับทำเนียบฯ และมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ ในเวลา 14.00 น.
ที่มา : ข่าวข้นคนข่าวเนชั่นทีวี