
ทำความรู้จัก “ทุ่นระเบิด PMN-2” ทหารไทยเหยียบบาดเจ็บ ผลิตโดยรัสเซีย
จากกรณีกำลังพลจากหน่วย ร้อย ร.6021 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการสนามในพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ประสบเหตุเหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนจากฐานปฏิบัติการมรกต ไปยังเนิน 481 กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 3 นาย
โดยมีรายงานจาก หน่วยปฏิบัติการต่อต้านทุ่นระเบิด (นปท.) ระบุว่า เป็น “ทุ่นระเบิด PMN-2” คาดว่าจะเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว ได้กวาดล้างทำลายทุ่นระเบิดเดิมไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปิดไทม์ไลน์การติดตั้ง จำนวน 335 ลูก

17 ก.ค. 2568 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” ระบุว่า “ทำความรู้จักกับ “ทุ่นระเบิด PMN2″ ของกัมพูชา”
ทุ่นระเบิด PMN-2 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อยู่กับที่ มีชนวนระเบิดในตัว ทำงานด้วยน้ำหนักกด ทำอันตรายฝ่าเท้าผู้เหยียบ ตัวทุ่นทำจากวัสดุพลาสติก การตรวจค้นทำได้ยาก
- ส่วนเปลือกของทุ่นระเบิด PMN-2 ทำจากพลาสติก ที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการฉีด โดยทั่วไป มีสีเขียวใบไม้ แต่บางครั้งอาจพบสีน้ำตาล
- ด้านบนของทุ่นระเบิด มีแผ่นกดแรงดันรูปตัว X สีดำทำจากยาง
- บรรจุวัตถุระเบิดชนิด RDX/TNT
- PMN-2 มีปริมาณวัตถุระเบิดที่มากผิดปกติ เมื่อเทียบกับทุ่นระเบิดต่อบุคคลหลายชนิด
- PMN-2 ออกแบบในช่วงกลางทศวรรษ 1970 มีชนวนที่ทันสมัยกว่ารุ่นเก่า โดยมีแผ่นกั้นใต้แผ่นกดแรงดัน
- การออกแบบแผ่นกดแรงดัน เป็นรูปตัว X ทำให้ PMN-2 มีความต้านทานต่อวิธีการปราบปรามทุ่นระเบิดแบบดั้งเดิม ที่ใช้แรงดันกะทันหันเพื่อระเบิด ถือได้ว่าเป็นทุ่นระเบิดที่ทนต่อการระเบิด
- ชนวนของ PMN-2 มีการหน่วงเวลาประมาณ 60 วินาที (สั้นกว่ารุ่นเก่า) เมื่อหมุนและถอดกุญแจนิรภัยออก สลักนิรภัยจะถูกตัด ซึ่งช่วยให้ลูกโป่งอากาศภายในทุ่นระเบิด ขยายตัวโดยสปริงอัด และยกแท่งนิรภัยออกจากเส้นทางของลูกเลื่อน ทำให้สามารถเคลื่อนที่ ระเบิดทำงานได้
สำหรับ PMN2 มีน้ำหนักตัวทุ่น : 15.9 ออนซ์, ดินระเบิด COM P-B 4.1 ออนซ์, ชนวนในตัวการทำงาน : น้ำหนักกด 1111 ปอนด์, อำนาจระเบิด : ทำอันตรายฝ่าเท้าผู้เหยียบ, วัสดุตัวทุ่น : พลาสติก, การตรวจค้น : ทำได้ยาก และผลิตโดยรัสเซีย